Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการจด Short Note ที่มีประสิทธิภาพ

Posted By Plook TCAS | 06 พ.ค. 65
10,537 Views

  Favorite

          การจดบันทึกสรุปโน้ตย่ออย่างมีประสิทธิภาพนั้นถือเป็นหนึ่งทักษะสำคัญที่ทุกคนจะต้องมี และกว่าจะเกิดเป็นโน้ตย่อที่ดีได้นั้น เราจะต้องผ่านการฝึกด่านสำคัญหลายด่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะการฟัง การจับใจความสำคัญ การเรียบเรียง การแยกแยะคัดเลือกคัดกรองสิ่งสำคัญ ซึ่งช่วยให้การอ่านหนังสือเล่มโต ๆ ไม่เหนื่อยเปล่า ช่วยให้ความจำทำงานได้ดีในสนามสอบ และเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ของการเรียนในมหาวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงการทำงาน และจะติดตัวเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตลอดชีวิต

          วิธีการจดบันทึกอย่างมีประสิทธิภาพให้ดูเป็นมืออาชีพ พี่อ้อรวบรวมเทคนิคมาให้ ซึ่งอาจช่วยให้หลายคนที่ยังขาดทักษะด้านนี้เริ่มต้นง่ายขึ้น ส่วนน้องที่มีทักษะอยู่บ้างแล้วก็จะช่วยเสริมพัฒนาให้ทักษะแข็งแกร่งต่อยอดไปพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

          หากพร้อมแล้ว ไปหยิบกระดาษปากกาคู่มือมาได้เลยค่ะ เราจะเป็นมืออาชีพในการจดโน้ตย่อที่มีประสิทธิภาพกัน

 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าห้องเรียน เรียนอะไรจะจดอะไร

          เตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนสำหรับจดการบันทึกให้พร้อม ปากกาสีต่าง ๆ ดินสอ ปากกาเน้นข้อความ ยางลบ สมุดโน้ต กระดาษ A4 แว่นสายตา แฟ้มเก็บเอกสาร สะดวกกับเครื่องมือไหน จัดไปตามนั้น  

          เครื่องเขียนควรเผื่อสำรองไว้พอสมควรกับการใช้งานตลอดวัน เพราะหากดินสอหัก เราจะไม่มีเวลามานั่งเหลาในห้องเรียนให้เสียสมาธิ หรือปากกาหมึกเขียนไม่ออกจะได้ใช้แท่งอื่นได้ทันที ตรวจสอบทุกครั้งก่อนจัดกระเป๋าไปโรงเรียน การมีเครื่องเขียนที่พร้อมเป็นการเรียนรู้ความเป็นระเบียบการสังเกตความละเอียดถี่ถ้วนไม่หลงลืม ทั้งยังฝึกฝนทักษะงานด้านบริหารจัดการเอกสารอีกด้วย

          การใช้ปากกาสีอื่น ๆ เพื่อขีดเส้นใต้เน้นความน่าสนใจความสำคัญช่วยในการจดจำ เช่นเดียวกับปากกาไฮไลท์ข้อความที่คุณครูเน้นย้ำเป็นพิเศษซึ่งอาจออกสอบได้ แต่ไม่ควรใช้หลากสีมากเกินไปอาจรบกวนสายตาหรืออ่านไม่รู้เรื่องเลย 
          หากน้อง ๆ ใช้กระดาษ A4 จดบันทึก ควรจัดแบ่งแฟ้มแยกแต่ละวิชาจะได้ไม่ปะปนกัน เอกสารไม่ปลิวหาย ดูเป็นระเบียบสะดวกในเวลาค้นหาเพื่อใช้อ่านทวนก่อนสอบ

          แฟ้มใสสีสันลวดลายน่ารักช่วยสร้างความสนใจกระตือรือร้นในการอ่าน แฟ้มสีใส ๆ ทำให้เห็นว่าเป็นเอกสารของวิชาใด ๆ  แฟ้มสีเป็นกระเป๋าก็เหมาะที่จะใส่กระดาษโน้ตย่อหรือของจุกจิกที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น ๆ เพื่อจะได้รวบรวมจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่สะดวกในการค้นหา หรือจะใช้แฟ้มดำแบบเจาะไว้เก็บรวบรวมแต่ละวิชาทั้งหมดที่บ้าน ก็ยิ่งฝึกฝนการมีระเบียบสะดวกการอ่านมากยิ่งขึ้น

          หากวิชาที่สำคัญมีเนื้อหามาก ลองขออนุญาตคุณครูก่อน ถ้าท่านอนุญาตให้บันทึกเสียงในชั้นเรียนได้ เราก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนจัดการได้เลย เพื่อเพิ่มความสะดวก แต่ก็ต้องจดด้วยลายมือไว้ด้วยเช่นกัน เมื่อกลับบ้านทบทวนจะได้ตรวจสอบกับที่เราจดมา ถือเป็นการทดสอบว่าที่เราจดมามีตรงไหนคลาดเคลื่อนหรือตกหล่นไป รวมทั้งการทำเนื้อหาบทเรียนซ้ำ ๆ หลายครั้ง จะยิ่งทำให้เราเข้าใจและจดจำได้มากขึ้น

 

ในห้องเรียนตั้งใจจดบันทึกให้ดีที่สุด

          ตั้งใจฟังและทำความเข้าใจเนื้อหาให้มากที่สุด ตอนแรกอาจจะงง ๆ ฟังไม่ทันจับใจความจับประเด็นไม่ถูก ค่อย ๆ ฝึกไป หากเราเตรียมพร้อมมาก่อนเข้าห้องเรียนแล้ว ความกังวลบางส่วนจะหมดไป หรือฝึกจากไฟล์เสียงที่บันทึกไว้ให้คล่อง ควรบันทึกเนื้อหาด้วยลายมือของตนเอง ถ้ามีข้อสงสัยหรือมีเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจ ทั้งส่วนที่เราเตรียมมาจากบ้านและจากในห้องเรียน ให้รีบถามคุณครูทันที แล้วจึงจดลงเพิ่มในกระดาษที่เราเขียนแยกคำถามไว้ อย่าเอาแต่จดและบอกตนเองว่าจะกลับมาตรวจดูภายหลัง

          คราวนี้มาดูวิธีการจดบันทึกแต่ละโครงสร้างกัน น้อง ๆ ชอบถนัดแบบไหนก็เลือกใช้เป็นแบบประจำตัว หรือปรับให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ที่จะจดโน้ตย่อ

 

เทคนิคการจัดโน้ตย่อรูปแบบต่าง ๆ

1. การจดแบบ Outline

เป็นการจดบันทึกที่ดีที่สุดและนิยมกันมากที่สุด เป็นการจดไล่เรียงลงมาเป็นลำดับตามแต่ละหัวข้อหลักหัวข้อย่อยหัวข้อที่เกี่ยวข้อง มีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน ดูสะอาดตามีความเป็นระเบียบช่วยประหยัดเวลาเวลากลับมาอ่านทบทวนหรือตรวจสอบแก้ไข อาจใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แทนหัวข้อย่อยหรือการใช้สีที่แตกต่างกัน

 

2. การจดแบบ Cornell

วิธีการจดรูปแบบนี้หลายคนนิยมใช้  เพราะเป็นระเบียบง่ายต่อการบันทึกอ่านสรุปทบทวนได้อย่างรวดเร็ว เนื้อหาทั้งหมดที่จดบันทึกเพิ่มเติมและสรุปจะอยู่ในหน้าเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่บนหน้ากระดาษออกเป็นสามหรือสี่ส่วน แบ่งส่วนจดบันทึกเป็น 2 ด้านพื้นที่ด้านซ้ายประมาณ 30% ด้านขวาประมาณ 70% แถวบนลงวันที่และหัวข้อประเด็นสำคัญ ส่วนแถวด้านล่างสุดเอาไว้ลงรายละเอียดสรุป

 

3. การจดแบบ Boxing

วิธีนี้เริ่มเป็นที่นิยมของคนใช้ ipad มาช่วยจดบันทึก ซึ่งรูปแบบใช้กับแอปพลิเคชัน  GoodNotes ทำให้เราสามารถจับกลุ่มประโยคหรือคำที่เชื่อมโยงกันเอาไว้เป็นกล่อง ๆ ให้ง่ายต่อการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง และง่ายต่อการกลับมาอ่านทบทวน  เราอาจประยุกต์วิธีการใช้มาลงสมุดหรือบนบอร์ด ลงเนื้อหาแล้วตีกรอบจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน หรือใช้เขียนลงบนกระดาษโน้ตกาวสีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในแต่ละหัวข้อเชื่อมโยงย้ายเข้าย้ายออกปะทับต่อเรียงปะเพิ่มเติมได้สะดวก วิธีนี้เหมาะกับการบันทึกความคิดใหม่ ๆ เพิ่มเติมในเนื้อหาเดิมได้ง่ายขึ้น

 

4. การจดแบบ Charting

เป็นการจดบันทึกที่เหมาะกับการทำที่บ้านหรือเวลาพักนอกห้องเรียน ไว้จัดการกับข้อมูลจำนวนมากพวกสถิติกราฟ  จัดโครงสร้างให้เนื้อหาแบ่งเป็นคอลัมน์ แบ่งเป็นตารางเรียงหมวดหมู่ เพื่อให้สะดวกง่ายต่อการลงบันทึก เข้าใจจดจำและเปรียบเทียบเนื้อหาแต่ละบทได้ง่าย

 

5. การจดแบบ Mind Mapping

วิธีนี้จะเข้าทางน้อง ๆ คนที่ชอบวาดรูป แต่ถ้าเราวาดรูปไม่เก่งอาจใช้สัญลักษณ์ หรือสนุกสนานกับการใช้สีเชื่อมโยงเนื้อหา เพียงแต่ต้องจัดระเบียบการจดโน้ตให้มองเห็นภาพรวมให้ชัดเจนและเข้าใจถึงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบเนื้อหาข้อมูลแต่ละหัวข้อ เลือกบันทึกคำสำคัญและแนวคิดของเนื้อหานั้น ๆ การบันทึกแบบนี้เหมาะกับการบันทึกที่บ้านมีเวลามากพอ ในชั้นเรียนค่อนข้างมีเวลาจำกัดและการจับประเด็นคำสอนอาจไม่เหมาะกับวิธีนี้

 

การเตรียมพร้อมล่วงหน้าและทบทวนนอกห้องเรียน

          หลังจากโรงเรียนเลิกกลับบ้านแล้วต้องไม่ลืมทบทวนสิ่งที่ได้บันทึกมาจากชั้นเรียน เตรียมตัวอ่านหนังสือทำโน้ตย่อไว้ล่วงหน้า การจดบันทึกเนื้อหาวิชาเรียนลงสมุดโน้ตย่อทำให้สะดวกในการพกพาไม่ต้องหอบหนังสือหลายเล่ม อยู่ที่ไหนในบ้านนอกบ้านในชั้นเรียนหรือนอกห้องเรียนก็สามารถอ่านทบทวนได้ตลอดเวลา หรือจะยกระดับด้วยการทำโน้ตย่อสรุปแต่ละบททั้งเล่มของทุกวิชา โอ้วว! อย่าเพิ่งทำตาโตแอบบ่นพี่อ้อในใจ  “แต่ละเทอมต้องอ่านหนังสือกี่เล่ม แค่จดบันทึกทบทวนที่ครูสอนในห้องเรียนก็หนักหนาแล้วค่า”

          แต่น้อง ๆ รู้มั้ยคะ หากเราเรียนรู้การย่อความจับประเด็นสาระสำคัญ อ่านเนื้อหาของแต่ละบทรอบแรกอย่างคร่าว ๆ แล้วค่อยอ่านละเอียดในครั้งต่อ ๆ ไป จะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น แล้วคนที่จดบันทึกเก่ง ๆ มีประสิทธิภาพเป็นมืออาชีพนั้น เวลาก่อนสอบไม่ต้องอ่านจากหนังสืออีกแล้วอ่านทบทวนเฉพาะที่ทำสรุปย่อมาก็พอ เรียกว่าอ่านแบบชิล ๆ แต่เข้าใจแบบชัวร์ ๆ

          การจดบันทึกให้น่าอ่านนั้น พยายามเขียนด้วยลายมือที่ชัดเจนเรียบร้อยอ่านง่าย ขึ้นหน้าใหม่พร้อมใส่วันที่ไว้ให้สะดวกในการทบทวนความจำ ฝึกการแบ่งวรรคตอน การเรียงรูปประโยค ขึ้นย่อหน้าใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนหมวดอื่น เขียนเรียงติดกันเป็นพืด อย่าหาทำ! เน้นจดแต่คำสำคัญและแนวคิดเฉพาะคำวลีหรือที่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อมากที่สุด อย่าใช้คำฟุ่มเฟือยหรือจดเรื่อยเปื่อย

          หมั่นฝึกจดบ่อย ๆ ให้ชิน จนเกิดเป็นวินัยจดบันทึก ทั้งวิชาในห้องเรียนและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว  คราวนี้น้อง ๆ จะพบกับความสนุกจากการจดบันทึกชนิดที่ว่าขาดสมุดโน้ตกับปากกาไม่ได้เลย จดบันทึกไว้ก่อน ลืมยากแน่นอน บทเรียนจดแล้วอย่าลืมทบทวนเนื้อหาของแต่ละวันแต่ละวิชา จะช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้เวลาแค่เพียง 10 หรือ 20 นาทีเท่านั้นเอง

 

ทบสอบการจดบันทึกให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์

          การจดโน้ตย่ออย่างมีประสิทธิภาพทำให้การเรียนของเราเป็นแบบมืออาชีพ แต่จะสมบูรณ์แค่ไหน จะรู้ได้ก็ต้องมีการทดสอบตัวเองว่าเข้าใจและจดจำเนื้อหาแต่ละบทแต่ละวิชาครบถ้วนถูกต้องหรือยัง ลองพยายามอธิบายแต่ละบทให้ตัวเองฟังเหมือนการท่องจากหนังสือโดยไม่เปิดหนังสือ หรือจะออกเสียงดังแล้วบันทึกเสียงไว้  เพื่อสะดวกกับการตรวจสอบหากมีสิ่งใดตกหล่นขาดหายไป การตรวจสอบนี้เหมาะมาก ๆ กับการเตรียมตัวช่วงท้าย ๆ ก่อนสอบ จะได้ไม่ต้องกลับมาอ่านหนังสือเล่มโตหนาปึ้กอีก หรืออีกหนึ่งวิธีการตรวจสอบคือ การช่วยกันติวกับเพื่อนอธิบายเนื้อหาให้เพื่อนฟัง ทำให้ไม่น่าเบื่อกับการท่องหนังสือลำพังคนเดียว แต่อย่าเผลอคุยเพลินกับเพื่อนนอกเรื่องจนลืมเป้าหมายไป

 

          หวังว่าเทคนิคการจดบันทึกอย่างมีประสิทธิภาพเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับพวกเราทุกคน ยิ่งฝึกฝนให้เป็นทักษะจุดแข็งของเรา ซึ่งสามารถต่อยอดไปพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ความจำ วินัย ฯลฯ

มันเท่ปังออกจะตายไปกับการเป็นนักเรียนคนเก่งที่มีคุณภาพ และที่แน่ ๆ การเป็นนักเรียนแบบมืออาชีพนั้น เป็นความภาคภูมิใจของตัวเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

 

พี่อ้อ อังสนา

 

ข้อมูลอ้างอิง
การจดบันทึก https://www.stou.ac.th/offices/oes/oespage/guide/download/4.การจดบันทึก.pdf
The Best Note-Taking Methods https://medium.goodnotes.com/the-best-note-taking-methods-for-college-students-451f412e264e
Six Effective Tips to Write a Summary https://www.utm.utoronto.ca/asc/sites/files/asc/public/shared/pdf/tip_sheets_writing/Summary_6Tips_alt_v1.pdf
KidsHealth / For Teens / Note-Taking Tips https://kidshealth.org/en/teens/take-notes.html
Top ten tips for writing notes https://www.modernenglishteacher.com/top-ten-tips-for-writing-notes

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow